ในการให้บริการจัดฝึกอบรมการดับเพลิงขั้นต้นและและฝึกซ้อมอพยพหนีไฟ จะต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดี และคุณสมบัติของผู้ขออนุญาต การขออนุญาต การอนุญาต การขอต่ออายุใบอนุญาต การออกใบแทนใบอนุญาต การพักใช้และการเพิกถอนใบอนุญาต การกําหนดค่าบริการ และวิธีการให้บริการ ให้เป็นไปตามกฎกระทรวงการเป็นหน่วยงานฝึกอบรมการดับเพลิงขั้นต้นและการเป็นหน่วยงานฝึกซ้อมดับเพลิงและฝึกซ้อมอพยพหนีไฟ
กฎกระทรวง
การเป็นหน่วยงานฝึกอบรมการดับเพลิงขั้นต้นและการเป็นหน่วยงานฝึกซ้อมดับเพลิงและฝึกซ้อมอพยพหนีไฟ
พ.ศ. ๒๕๕๖
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๑๑ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ๒๕๕๔ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๓ มาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้
โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ในกฎกระทรวงนี้
“ใบอนุญาต” หมายความว่า ใบอนุญาตเป็นหน่วยงานฝึกอบรมการดับเพลิงขั้นต้นหรือหน่วยงานฝึกซ้อมดับเพลิงและฝึกซ้อมอพยพหนีไฟ แล้วแต่กรณี
หมวด ๑
การขออนุญาต และการอนุญาต
——————————–
ส่วนที่ ๑
คุณสมบัติของผู้ขออนุญาต การขออนุญาต และการอนุญาต
——————————–
ข้อ ๒ นิติบุคคลผู้ขออนุญาตเป็นหน่วยงานฝึกอบรมการดับเพลิงขั้นต้นหรือหน่วยงานฝึกซ้อมดับเพลิงและฝึกซ้อมอพยพหนีไฟ ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(๑) มีสำนักงานตั้งอยู่ในราชอาณาจักรไทย
(๒) มีวัตถุประสงค์ในการจัดฝึกอบรมด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
(๓) ไม่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาต เว้นแต่พ้นกำหนดสามปีนับแต่วันที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต
(๔) ผู้กระทำการแทนนิติบุคคลต้องไม่เคยเป็นผู้กระทำการแทนของนิติบุคคลที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต เว้นแต่พ้นกำหนดห้าปีนับแต่วันที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต
ข้อ ๓ ให้ผู้ขออนุญาตตามข้อ ๒ ยื่นคำขออนุญาตตามแบบและสถานที่ที่อธิบดีประกาศกำหนด พร้อมด้วยเอกสาร ดังต่อไปนี้
(๑) สำเนาเอกสารที่แสดงความเป็นนิติบุคคล
(๒) สำเนาหนังสือแสดงวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการ
(๓) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล
(๔) แผนที่แสดงที่ตั้งของนิติบุคคลโดยสังเขป
(๕) แผนที่แสดงที่ตั้งของสถานที่ฝึกภาคปฏิบัติโดยสังเขป ในกรณีที่ขอเป็นหน่วยงานฝึกอบรมการดับเพลิงขั้นต้น
(๖) เอกสารแสดงรายชื่อและสำเนาวุฒิการศึกษาของบุคลากร ซึ่งทำหน้าที่บริหารจัดการ
(๗) รายชื่อวิทยากร เอกสารหรือหลักฐานแสดงคุณสมบัติของวิทยากร รวมทั้งหนังสือยืนยันการเป็นวิทยากรให้กับนิติบุคคล
(๘) เอกสารประกอบการฝึกอบรมหรือการฝึกซ้อมซึ่งมีเนื้อหาวิชาตามที่กำหนดในหลักสูตรที่ขออนุญาต
(๙) เอกสารแสดงรายการอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบในการฝึกอบรมหรือการฝึกซ้อม ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ในหลักสูตรที่ขออนุญาตให้ผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลของผู้ขออนุญาตลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องของสำเนาเอกสารตามวรรคหนึ่ง
ข้อ ๔ ในการเป็นหน่วยงานฝึกอบรมการดับเพลิงขั้นต้นหรือหน่วยงานฝึกซ้อมดับเพลิงและฝึกซ้อมอพยพหนีไฟต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
(๑) จัดให้มีบุคลากรซึ่งสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทำหน้าที่บริหารจัดการการฝึกอบรมหรือการฝึกซ้อมอย่างน้อยหนึ่งคน
(๒) จัดให้มีวิทยากรซึ่งมีคุณสมบัติตามข้อ ๒๖ หรือข้อ ๒๙ แล้วแต่กรณี ที่ทำงานเต็มเวลาในหน่วยงานอย่างน้อยหนึ่งคน
(๓) จัดให้มีสถานที่ฝึกภาคปฏิบัติ และมีอุปกรณ์ประกอบการฝึกอบรมหรือฝึกซ้อมที่เหมาะสมกับหลักสูตร แล้วแต่กรณี
ข้อ ๕ ในกรณีที่หน่วยงานที่เป็นราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค หรือราชการส่วนท้องถิ่นมายื่นขออนุญาตเป็นหน่วยงานฝึกอบรมการดับเพลิงขั้นต้นหรือหน่วยงานฝึกซ้อมดับเพลิงและฝึกซ้อมอพยพหนีไฟ ให้นำความตามข้อ ๓ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ให้นำกฎกระทรวงนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลมกับหน่วยงานตามวรรคหนึ่งที่ได้รับใบอนุญาตด้วย
ข้อ ๖ เมื่อมีผู้ยื่นคำ ขออนุญาตและอธิบดีพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ยื่นคำ ขออนุญาตมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามข้อ ๒ และมีความพร้อมในการปฏิบัติตามข้อ ๔ ให้อธิบดีออกใบอนุญาตตามแบบที่อธิบดีกำหนดแก่ผู้ยื่นคำขออนุญาตเป็นหน่วยงานฝึกอบรมการดับเพลิงขั้นต้นหรือหน่วยงานฝึกซ้อมดับเพลิงและฝึกซ้อมอพยพหนีไฟ แล้วแต่กรณี ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอในกรณีมีเหตุอันสมควร อาจขยายระยะเวลาได้ซึ่งรวมแล้วต้องไม่เกินเก้าสิบวัน
ในกรณีที่อธิบดีพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ยื่นคำขออนุญาตไม่มีคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามอย่างหนึ่งอย่างใดตามข้อ ๒ หรือไม่มีความพร้อมในการปฏิบัติตามข้อ ๔ ให้อธิบดีมีหนังสือแจ้งให้ผู้ยื่นคำขออนุญาตทราบโดยเร็ว
ข้อ ๗ ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตตามข้อ ๖ มีการเปลี่ยนแปลงที่ตั้ง บุคลากรซึ่งทำหน้าที่บริหารจัดการ วิทยากร หรือมีการเปลี่ยนแปลงอื่นใดจากที่ได้ยื่นขออนุญาตไว้ ให้แจ้งเป็นหนังสือพร้อมส่งเอกสารแสดงการเปลี่ยนแปลงต่ออธิบดีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง และให้นำความตามข้อ ๖ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ข้อ ๘ ใบอนุญาตให้มีอายุสามปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต
ส่วนที่ ๒
การขอต่ออายุใบอนุญาต และการออกใบแทนใบอนุญาต
——————————–
ข้อ ๙ การขอต่ออายุใบอนุญาต ให้ยื่นคำขอตามแบบและสถานที่ที่อธิบดีประกาศกำหนดไม่น้อยกว่าหกสิบวันก่อนวันที่ใบอนุญาตจะสิ้นอายุ และให้นำความในข้อ ๒ ข้อ ๓ ข้อ ๖ และข้อ ๗ มาใช้บังคับแก่การยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตโดยอนุโลม เมื่อได้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตแล้ว ให้ผู้ได้รับอนุญาตดำเนินการต่อไปได้จนกว่าอธิบดี
จะสั่งไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตนั้น การต่ออายุใบอนุญาตให้มีอายุคราวละสามปีนับแต่วันที่ใบอนุญาตเดิมสิ้นอายุ
ข้อ ๑๐ ในกรณีที่ใบอนุญาตสูญหาย ถูกทำลาย หรือชำรุดในสาระสำคัญ ให้ยื่นคำขอใบแทนใบอนุญาตต่ออธิบดีภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ทราบถึงการสูญหาย ถูกทำลาย หรือชำรุดดังกล่าว
ส่วนที่ ๓
การพักใช้และการเพิกถอนใบอนุญาต
——————————–
ข้อ ๑๑ ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาต โดยมีกำหนดระยะเวลา ดังต่อไปนี้
(๑) ครั้งที่หนึ่ง สามสิบวัน
(๒) ครั้งที่สอง ไม่น้อยกว่าสามสิบวัน แต่ไม่เกินหกสิบวัน
(๓) ครั้งที่สาม ไม่น้อยกว่าหกสิบวัน แต่ไม่เกินเก้าสิบวัน
ข้อ ๑๒ ให้อธิบดีมีอำนาจเพิกถอนใบอนุญาตที่ออกให้แก่ผู้รับใบอนุญาตที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงได้ในกรณี ดังต่อไปนี้
(๑) ผู้รับใบอนุญาตเคยถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตสามครั้งและฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้อีก
(๒) ผู้รับใบอนุญาตเคยถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตสองครั้งและฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ซ้ำในเรื่องเดียวกัน
(๓) ปรากฏข้อเท็จจริงภายหลังว่าผู้รับใบอนุญาตขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามอย่างหนึ่งอย่างใดตามข้อ ๒
(๔) ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้รับใบอนุญาตเรียกเก็บเงินจากผู้รับบริการแล้วไม่จัดให้มีการฝึกอบรมหรือฝึกซ้อม
(๕) ดำเนินการฝึกอบรมหรือฝึกซ้อมในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาต
(๖) ออกหลักฐานการฝึกอบรมหรือฝึกซ้อมโดยไม่มีการดำเนินการ
ข้อ ๑๓ คำสั่งพักใช้ใบอนุญาตและคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตให้ทำเป็นหนังสือแจ้งให้ผู้รับใบอนุญาตทราบ ในกรณีที่ไม่พบตัวผู้รับใบอนุญาตหรือผู้รับใบอนุญาตไม่ยอมรับคำสั่ง ให้ปิดคำสั่งดังกล่าวไว้ในที่เปิดเผยซึ่งเห็นได้ง่าย ณ สำนักงานของผู้รับใบอนุญาต และให้ถือว่าได้ทราบคำสั่งนั้นแล้วตั้งแต่วันที่ปิดคำสั่ง
หมวด ๒
วิธีการให้บริการและการกำหนดค่าบริการ
——————————–
ส่วนที่ ๑
บททั่วไป
——————————–
ข้อ ๑๔ ให้ผู้รับใบอนุญาตแจ้งกำหนดการฝึกอบรมหรือการฝึกซ้อม รายชื่อวิทยากร และผู้ดูแลการฝึกอบรมหรือการฝึกซ้อมต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวันทำการก่อนการฝึกอบรมหรือการฝึกซ้อม แล้วแต่กรณี
ข้อ ๑๕ ให้ผู้รับใบอนุญาตดำเนินการให้เป็นไปดังรายละเอียดที่ได้แจ้งไว้ตามข้อ ๑๔ และให้ออกหลักฐานการฝึกอบรมหรือการฝึกซ้อมให้แก่ผู้รับบริการภายหลังเสร็จสิ้นการฝึกอบรมหรือการฝึกซ้อม
ข้อ ๑๖ ให้ผู้รับใบอนุญาตส่งรายงานสรุปผลการฝึกอบรมหรือการฝึกซ้อม พร้อมด้วยรายชื่อวิทยากรและผู้ดูแลการฝึกอบรมหรือการฝึกซ้อมต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เสร็จสิ้นการฝึกอบรมหรือการฝึกซ้อม แล้วแต่กรณี
ข้อ ๑๗ วิทยากรต้องได้รับการฝึกอบรมหรือเพิ่มเติมความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและระงับอัคคีภัยไม่น้อยกว่าหกชั่วโมงต่อปี
ข้อ ๑๘ ให้ผู้รับใบอนุญาตส่งหลักฐานการฝึกอบรมหรือเพิ่มเติมความรู้ของวิทยากรต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายภายในวันที่สิบห้าของเดือนมกราคม
ข้อ ๑๙ ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอำนาจเข้าไปในสถานที่ทำงานหรือสถานที่ตั้งและสถานที่จัดฝึกอบรมหรือฝึกซ้อมของผู้รับใบอนุญาต เพื่อสอบถามข้อเท็จจริง ตรวจสอบ หรือกำกับดูแลให้หน่วยงานดังกล่าวปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎกระทรวงนี้ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวก ชี้แจงข้อเท็จจริง และส่งสิ่งของหรือเอกสารที่เกี่ยวข้องแก่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายในการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง
ส่วนที่ ๒
การฝึกอบรมการดับเพลิงขั้นต้น
——————————–
ข้อ ๒๐ หน่วยงานฝึกอบรมการดับเพลิงขั้นต้นต้องจัดให้มีการฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ
ข้อ ๒๑ การฝึกอบรมภาคทฤษฎีต้องมีกำหนดระยะเวลาการฝึกอบรมไม่น้อยกว่าสามชั่วโมงและอย่างน้อยต้องมีเนื้อหาวิชา ดังต่อไปนี้
(๑) ทฤษฎีการเกิดเพลิงไหม้
(๒) การแบ่งประเภทของเพลิง และวิธีดับเพลิงประเภทต่าง ๆ
(๓) จิตวิทยาเมื่อเกิดอัคคีภัย
(๔) การป้องกันแหล่งกำเนิดของการติดไฟ
(๕) เครื่องดับเพลิงชนิดต่าง ๆ
(๖) วิธีการใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลที่ใช้ในการดับเพลิง
(๗) แผนป้องกันและระงับอัคคีภัย
(๘) การจัดระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย การประยุกต์ใช้ระบบและอุปกรณ์ที่มีอยู่ในสถานประกอบกิจการ
ข้อ ๒๒ การฝึกอบรมภาคปฏิบัติต้องมีกำหนดระยะเวลาการฝึกอบรมไม่น้อยกว่าสามชั่วโมง โดยผู้เข้ารับการฝึกอบรมทุกคนต้องได้รับการฝึกปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์ดับเพลิง และอย่างน้อยต้องมีการฝึกอบรมภาคปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
(๑) ฝึกดับเพลิงประเภท เอ ด้วยการใช้เครื่องดับเพลิงแบบเคลื่อนย้ายได้ที่ใช้น้ำสะสมแรงดัน หรือสารดับเพลิงที่สามารถดับเพลิงประเภท เอ
(๒) ฝึกดับเพลิงประเภท บี ด้วยการใช้เครื่องดับเพลิงแบบเคลื่อนย้ายได้ที่ใช้สารดับเพลิงชนิดคาร์บอนไดออกไซด์ โฟม ผงเคมีแห้ง หรือสารดับเพลิงที่สามารถดับเพลิงประเภท บี
(๓) ฝึกดับเพลิงประเภท ซี ด้วยการใช้เครื่องดับเพลิงแบบเคลื่อนย้ายได้ที่ใช้สารดับเพลิงชนิดคาร์บอนไดออกไซด์ ผลเคมีแห้ง หรือสารดับเพลิงที่สามารถใช้ดับเพลิงประเภท ซี
(๔) ฝึกดับเพลิงโดยใช้สายดับเพลิง
ข้อ ๒๓ สถานที่ฝึกภาคปฏิบัติอย่างน้อยต้องมีลักษณะ ดังต่อไปนี้
(๑) มีสถานที่เป็นสัดส่วนเหมาะสมแก่การฝึกภาคปฏิบัติ
(๒) มีความปลอดภัยต่อผู้เข้ารับการฝึกอบรมและชุมชนใกล้เคียง
(๓) ไม่อยู่ในบริเวณที่อาจเป็นเหตุให้เกิดการระเบิด หรือติดไฟได้ง่ายต่อสถานที่ใกล้เคียง
(๔) ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม หรือมีระบบกำจัดมลพิษที่เหมาะสม
ข้อ ๒๔ อุปกรณ์ที่ใช้ในการฝึกภาคปฏิบัติอย่างน้อยต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้
(๑) เครื่องดับเพลิงแบบเคลื่อนย้ายได้ที่สามารถดับเพลิงประเภท เอ ประเภท บี และประเภท ซี
(๒) สายส่งน้ำดับเพลิง สายฉีดน้ำดับเพลิง กระบอกฉีดน้ำดับเพลิงหรือหัวฉีดน้ำดับเพลิง
(๓) อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลที่ใช้สำหรับการดับเพลิง ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยเสื้อคลุมดับเพลิง ถุงมือ รองเท้า หมวกดับเพลิงที่มีกระบังหน้า และหน้ากากป้องกันความร้อน
อุปกรณ์ตามวรรคหนึ่งต้องสามารถใช้งานได้ดี มีความปลอดภัยต่อการฝึกและต้องมีจำนวนที่เพียงพอต่อผู้เข้ารับการฝึกอบรม
ข้อ ๒๕ การฝึกอบรมภาคทฤษฎี หน่วยงานฝึกอบรมการดับเพลิงขั้นต้นต้องจัดให้ห้องฝึกอบรมหนึ่งห้องมีผู้เข้ารับการฝึกอบรมไม่เกินหกสิบคน และมีวิทยากรอย่างน้อยหนึ่งคน การฝึกอบรมภาคปฏิบัติ หน่วยงานฝึกอบรมการดับเพลิงขั้นต้นต้องจัดให้มีวิทยากรอย่างน้อยหนึ่งคนต่อผู้เข้ารับการฝึกอบรมไม่เกินยี่สิบคน
ข้อ ๒๖ วิทยากรผู้ทำการฝึกอบรมการดับเพลิงขั้นต้นต้องมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใด
ดังต่อไปนี้
(๑) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรีที่มีการเรียนวิชาเกี่ยวกับอัคคีภัยและมีประสบการณ์การเป็นวิทยากรเกี่ยวกับอัคคีภัยภายหลังจากที่สำเร็จการศึกษาไม่น้อยกว่าสามปี
(๒) ผ่านการอบรมในหลักสูตรการฝึกอบรมการดับเพลิงขั้นก้าวหน้า ขั้นสูง หรือทีมดับเพลิงและมีประสบการณ์การเป็นวิทยากรเกี่ยวกับอัคคีภัยไม่น้อยกว่าสามปี
(๓) ผ่านการอบรมหลักสูตรครูฝึกดับเพลิงหรือครูฝึกป้องกันบรรเทาสาธารณภัยจากหน่วยงานราชการและมีประสบการณ์การเป็นวิทยากรเกี่ยวกับอัคคีภัยไม่น้อยว่าสองปี
(๔) ปฏิบัติงานหรือเคยปฏิบัติงานเป็นพนักงานดับเพลิงในทีมดับเพลิงของสถานประกอบกิจการไม่น้อยกว่าสามปี และผ่านการอบรมตั้งแต่หลักสูตรการฝึกอบรมการดับเพลิงขั้นต้นขึ้นไป หรือผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรวิทยากรการป้องกันและระงับอัคคีภัยจากหน่วยงานราชการ และ มีประสบการณ์การเป็นวิทยากรเกี่ยวกับอัคคีภัยไม่น้อยกว่าสองปี
(๕) ปฏิบัติงานหรือเคยปฏิบัติงานในหน้าที่พนักงานดับเพลิงของหน่วยงานราชการไม่น้อยกว่าสามปี และผ่านการอบรมตั้งแต่หลักสูตรการฝึกอบรมการดับเพลิงขั้นต้นขึ้นไป หรือผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรวิทยากรการป้องกันและระงับอัคคีภัยจากหน่วยงานราชการ และมีประสบการณ์การเป็นวิทยากรเกี่ยวกับอัคคีภัยไม่น้อยกว่าหนึ่งปี
ส่วนที่ ๓
การฝึกซ้อมดับเพลิงและฝึกซ้อมอพยพหนีไฟ
——————————–
ข้อ ๒๗ หน่วยงานฝึกซ้อมดับเพลิงและฝึกซ้อมอพยพหนีไฟต้องจัดให้มีการประชุมชี้แจงและซักซ้อมผู้เกี่ยวข้องให้เข้าใจในเรื่อง ดังต่อไปนี้
(๑) แผนการดับเพลิงและวิธีการดับเพลิงของสถานประกอบกิจการ
(๒) แผนการอพยพหนีไฟและวิธีการอพยพหนีไฟของสถานประกอบกิจการ
(๓) การค้าหา ช่วยเหลือ และเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย
ข้อ ๒๘ การฝึกซ้อมดับเพลิงและฝึกซ้อมอพยพหนีไฟตามข้อ ๒๗ ต้องจัดให้มีการจำลองเหตุการณ์และฝึกซ้อมเสมือนเหตุการณ์จริงในสถานที่ปฏิบัติงานของผู้รับการฝึก
ข้อ ๒๙ วิทยากรผู้ดำเนินการฝึกซ้อมดับเพลิงและฝึกซ้อมอพยพหนีไฟต้องมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(๑) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรีที่มีการเรียนวิชาเกี่ยวกับอัคคีภัย และมีประสบการณ์ในการป้องกันและระงับอัคคีภัยภายหลังจากที่สำเร็จการศึกษาไม่น้อยกว่าสามปี
(๒) ผ่านการอบรมด้านอัคคีภัยในหลักสูตรผู้อำนวยการการดับเพลิงหรือผ่านการอบรม หลักสูตรครูฝึกดับเพลิงหรือครูฝึกป้องกันบรรเทาสาธารณภัยจากหน่วยงานราชการ โดยมีประสบการณ์ ในการป้องกันและระงับอัคคีภัยไม่น้อยกว่าสามปี
(๓) ผ่านการอบรมในหลักสูตรการฝึกอบรมการดับเพลิงขั้นก้าวหน้า ขั้นสูง หลักสูตรวิทยากรการป้องกันและระงับอัคคีภัยจากหน่วยงานราชการ หรือหลักสูตรทีมดับเพลิง โดยมีประสบการณ์ในการป้องกันและระงับอัคคีภัยไม่น้อยกว่าสามปี
(๔) ปฏิบัติงานหรือเคยปฏิบัติงานในหน้าที่พนักงานดับเพลิงของหน่วยงานราชการ โดยมีประสบการณ์ในการป้องกันและระงับอัคคีภัยไม่น้อยกว่าสามปี
ส่วนที่ ๔
ค่าบริการ
——————————–
ข้อ ๓๐ ค่าบริการในการฝึกอบรมการดับเพลิงขั้นต้น ให้จัดเก็บได้ในอัตราไม่เกิน ๑,๕๐๐ บาทต่อคน
ข้อ ๓๑ ค่าบริการในการฝึกซ้อมดับเพลิงและฝึกซ้อมอพยพหนีไฟ ให้จัดเก็บได้ในอัตราดังต่อไปนี้
(๑) ในการฝึกซ้อมตั้งแต่ ๑๐ ถึง ๙๙ คน ไม่เกินครั้งละ ๑๕,๐๐๐ บาท
(๒) ในการฝึกซ้อมตั้งแต่ ๑๐๐ ถึง ๔๙๙ คน ไม่เกินครั้งละ ๒๐,๐๐๐ บาท
(๓) ในการฝึกซ้อมตั้งแต่ ๕๐๐ คนขึ้นไป ไม่เกินครั้งละ ๒๕,๐๐๐ บาท
หมวด ๓
ค่าธรรมเนียม
——————————–
ข้อ ๓๒ ให้กำหนดค่าธรรมเนียมในอัตรา ดังต่อไปนี้
(๑) ใบอนุญาตให้บริการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ในการเป็นหน่วยงานฝึกอบรมการดับเพลิงขั้นต้น ฉบับละ ๒๐,๐๐๐ บาท
(๒) ใบอนุญาตให้บริการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ในการเป็นหน่วยงานฝึกซ้อมดับเพลิงและฝึกซ้อมอพยพหนีไฟ ฉบับละ ๒๐,๐๐๐ บาท
(๓) ใบแทนใบอนุญาต ฉบับละ ๕๐๐ บาท
(๔) การต่ออายุใบอนุญาต ครั้งละเท่ากับค่าธรรมเนียม ใบอนุญาตประเภทนั้น ๆ
ให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมตามวรรคหนึ่งแก่ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค หรือราชการส่วนท้องถิ่นซึ่งได้รับใบอนุญาต
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๖
ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน